14 มิถุนายน 2554

พืชที่เป็นทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศ (Herbs and Spices) ช่วยบำบัดโรคและบำรุงสุขภาพ

พืชที่เป็นทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศ (Herbs and Spices) มีความเป็นมาอันยาวนาน ทั้งในเรื่องการใช้ปรุงเป็นยาบำรุงรักษาโรคและใช้ในการปรุงอาหาร สมุนไพรและเครื่องเทศที่ใช้ปรุงอาหารนั้นมีสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินในปริมาณสูงแถมยังมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย เครื่องเทศและสมุนไพรที่ใส่ลงในอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยเพิ่มสีสันและรสชาติของอาหารให้กลมกล่อม จัดจ้านแล้วยังช่วยลดการใช้เครื่องปรุงต่างๆเช่น เกลือ น้ำตาลลงได้อีกทางหนึ่ง เครื่องเทศที่มีสรรพคุณอยู่ในชั้นแถวหน้าที่ได้รับการศึกษามาแล้วว่า “สุดยอด” จริงๆ มีอยู่ 5-6 ชนิดดังนี้คือ

พริก (Chili) เป็นทั้งพืชสวนครัว สมุนไพรและเครื่องเทศสำหรับปรุงอาหาร มีหลายชนิดรสชาติจะเริ่มตั้งแต่หวานอ่อนๆ จนถึงเผ็ดร้อน คุณสมบัติของพริกยิ่งเผ็ดเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น พริกมี

คุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวาน สารประกอบที่สำคัญ 2 ชนิดในพริกคือ แคปไซซิน (Capsaicin) และไดไฮโดรแคปไซซิน (Dihydrocapsaicin) ซึ่งช่วยลดระดับอินซูลินและน้ำตาลกูลโคส ช่วยลดไขมันที่ทำให้เส้นเลือดอุดตันและลดการก่อตัวของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด การกินพริกเพียงวันละ 15 กรัมก็มีผลดีต่อสุขภาพแล้ว

ขิง (Ginger) ใช้ได้ทั้งเป็นเครื่องเทศปรุงอาหารและสมุนไพรบรรเทาอาการคลื่นไส้จากอาการแพ้ท้องหรืออาการคลื่นไส้หลังการผ่าตัดหลังได้รับเคมีบำบัด ขิงยังช่วยบรรเทาอาการเมารถเมาเรือและยับยั้งอาการอักเสบได้ด้วย ปริมาณขิงผงที่ควรกินต่อวันเพียง 1 กรัมก็ส่งผลดีต่อสุขภาพแล้ว แม้ขิงจะออกฤทธิ์ไม่แรงเท่ากับยาแก้อักเสบแต่ขิงก็เป็นสมุนไพรที่ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใดๆและสามารถดื่มน้ำขิง (ที่ไม่มีน้ำตาล) ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ปริมาณขิงสกัดตั้งแต่ 510 มิลลิกรัมถึง 1 กรัมต่อวันจะช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบได้

พริกไทยดำ (Black Pepper) ส่วนประกอบที่มีผลดีต่อสุขภาพในเครื่องเทศชนิดนี้คือ ไพเปอรีน พริกไทยดำจะช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารและระบบประสาททำให้มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น

อบเชย (Cinnamon) เป็นเครื่องเทศที่ได้จากเปลือกไม้ชั้นในที่แห้งแล้วของต้นอบเชยจะมีกลิ่นหอมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยในเรื่องการไหลเวียนของโลหิตเพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระแต่สรรพคุณที่ดีที่สุดของอบเชยมักจะเป็นผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดเสียมากกว่า

ขมิ้น (Turmeric) ทั้งขมิ้นผงและขมิ้นชันก็อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สารอาหารที่อยู่ในขมิ้นคือ เคอคูมินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและฟีโนลิคที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้ขมิ้นยังช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบ โรคไขข้ออักเสบและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) ได้อีกด้วย

กานพลู (Clove Tree) เครื่องเทศที่มีลักษณะเป็นรูปดาวช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสมุนไพรและเครื่องเทศชนิดอื่น น้ำมันจากกานพลูมีสารที่ชื่อ ยูจีโน่ เป็นตัวยับยั้งการอักเสบ กานพลูใช้ปรุงอาหารได้ทั้งคาวและหวานมีสรรพคุณทั้งในด้านการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการอักเสบได้ดีทีเดียว

พืชผักที่เป็นทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศ (Herbs and Spices) ยังมีอีกมากมายที่มีประโยชน์แต่ที่กล่าวมานี้เป็นพืชผักที่เป็นดาวเด่นคือมีสรรพคุณที่เป็นที่รู้จักกันดีและหาได้ง่าย ข้อดีประการหนึ่งของการใช้สมุนไพรที่สำคัญคือไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือสารตกค้างในร่างกายเหมือนยาแผนปัจจุบันที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นเราควรหันมาให้ความสนใจใช้สมุนไพรกันจะดีกว่าไหม