12 มีนาคม 2552

หลักการใช้ยาสมุนไพร ( How to use herbs ?)

สมุนไพร (Herbs) มักจะเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ต้องการการดูแลรักษามากนัก หากเราเอาสมุนไพรมาปลูกจึงง่ายต่อการดูแล ประโยชน์ที่ได้จากการปลูกสมุนไพรคือเก็บมาทำเป็นยา


รักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ แต่การใช้สมุนไพรให้ถูกหลัก ถูกต้อง ถูกวิธีนั้นจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้อยู่เหมือนกัน หากคุณมีความสนใจเพียงเล็กน้อยก็สามารถเรียนรู้หลักการใช้สมุนไพรได้ไม่ยากนัก

สมุนไพรที่เราเก็บมาทำเป็นยาบำรุงร่างกายหรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆนั้นโดยทั่วไปเราจะแบ่งส่วนต่างๆของสมุนไพรที่สำคัญออกเป็น 5 ส่วนด้วยกันคือ 1. ส่วนหัวหรือรากของสมุนไพร 2. ส่วนที่เป็นลำต้นหรือเปลือกของสมุนไพร 3. ส่วนที่เป็นดอกสมุนไพร 4. ส่วนที่เป็นใบสมุนไพร 5. ส่วนที่เป็นผลสมุนไพร โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรในสายพันธุ์ใดก็ตามส่วนต่างๆของพืชสมุนไพรจะทำหน้าที่คล้ายๆกันคือ ส่วนที่เป็นรากจะคอยดูดซึมอาหารมาเลี้ยงส่วนอื่นๆของสมุนไพร ส่วนของใบจะทำหน้าที่ปรุงอาหารโดยสังเคราะห์แสงทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนกับอากาศภายนอก ส่วนที่เป็นดอกและผลจะมีหน้าที่แพร่พันธุ์สมุนไพรต่อๆไป

คุณลักษณะเฉพาะตัวของสมุนไพรแต่ละชนิดจะแตกต่างกันเช่น ชื่อ รส กลิ่น สีและรูปร่าง สมุนไพรแต่ละชนิดจะมีชื่อเฉพาะตัวเพื่อระบุให้รู้ว่าเป็นสมุนไพรชนิดนั้นๆเช่น สะระแหน่ กระวาน ฯลฯ สีของสมุนไพรก็บอกคุณสมบัติของสมุนไพรนั้นได้ตามกลุ่มของสี ส่วนกลิ่นสมุนไพรเมื่อดมกลิ่นจะรับรู้ถึงกลิ่นประเภทต่างๆของสมุนไพรเช่น เหม็น ฉุน หรือหอมชื่นใจ เมื่อสมุนไพรสัมผัสกับลิ้นจะบอกรสชาติตามแต่ชนิดของสมุนไพรเช่น ฝาด เปรี้ยว จืด ขม หรือหวาน ส่วนรูปร่างของสมุนไพรคือลักษณะที่เราจับต้องได้เช่น กระพี้หรือเปลือก เมล็ด แก่นสมุนไพร ใบ ราก หรือดอก เป็นต้น

การใช้สมุนไพรให้เป็น (Use the right herb) ต้องมีความรู้พอสมควร อย่างแรกคือการใช้สมุนไพรให้ถูกกลุ่มของอาการเช่น ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก การรักษาต้องใช้สมุนไพรที่ให้ผลในการระบายท้องจึงจะถูกต้องแต่หากใช้สมุนไพรผิดประเภทเช่นใช้สมุนไพรที่มีรสฝาดซึ่งมีสรรพคุณทำให้ถ่ายยากก็จะทำให้ผู้ป่วยอาการหนักขึ้นไปอีก ต่อมาคือการใช้สมุนไพรให้ถูกต้น สมุนไพรชนิดเดียวกันแต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นดังนั้นการใช้สมุนไพรให้ถูกต้นจึงต้องให้ความสำคัญกับลักษณะรูปร่างและสรรพคุณมากกว่าการใช้ชื่อเป็นหลักเพราะแต่ละท้องถิ่นอาจเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป

ต่อมาคือการรู้จักใช้สมุนไพรให้ถูกส่วน ตามข้างต้นที่กล่าวไว้ว่าสมุนไพรแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆที่สำคัญหลายส่วนและแต่ละส่วนจะมีผลในการออกฤทธิ์รักษาโรคมากน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้นการใช้สมุนไพรรักษาโรคให้ได้ผลจึงต้องรู้จักเลือกใช้สมุนไพรให้ถูกส่วนด้วยจึงจะเกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่

นอกจากนี้สมุนไพรยังต้องใช้ให้ถูกขนาดด้วย กล่าวคือนอกจากจะใช้สมุนไพรให้ถูกต้น ถูกส่วนและถูกกับอาการของโรคแล้ว ยังต้องใช้ให้ถูกขนาดอีกด้วยเพราะหากใช้สมุนไพรในปริมาณที่น้อยเกินไปก็เหมือนกับการให้ยาไม่ถึงขนาดปริมาณตัวยาในสมุนไพรอาจไม่เพียงพอต่อการบรรเทารักษาอาการของโรคได้เป็นผลทำให้การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรจะเป็น ในทางตรงข้ามหากใช้สมุนไพรมากเกินไปอาจทำให้เกิดโทษต่อร่างกายและแถมยังเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

ประการสุดท้ายคือขั้นตอนหรือกระบวนการการแปรรูปหรือนำสมุนไพรไปใช้ สมุนไพรแต่ละชนิดมีวิธีใช้ที่แตกต่างกัน บางอย่างใช้สด บางอย่างต้องนำไปตากแดดให้แห้ง บางอย่างต้องผสมเหล้าโรงเพื่อเร่งให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น สมุนไพรบางชนิดก็ต้องนำไปต้มเพื่อสกัดเอาตัวยาออกมา ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้สมุนไพรรักษาโรคให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจพอสมควรเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีในการใช้สมุนไพรรักษาโรค (Herb for Treatment)