การใช้สมุนไพรชุมเห็ดเทศ (Candle Bush) รักษาโรคกลากเกลื้อน ส่วนที่นำมาใช้รักษาโรคกลากเกลื้อนคือดอกสด ใบสดหรือแห้ง ชุมเห็ดเทศจะมีรสเบื่อเอียน มีสรรพคุณแก้ท้องผูกและรักษากลากเกลื้อนได้ วิธีใช้ให้นำใบชุมเห็ดเทศสด 3 ใบมาตำให้ละเอียด ผสมปูนแดงที่ใช้กินกับหมากและน้ำเล็กน้อย ผสมให้เข้ากันใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนบ่อยๆ อีกวิธีหนึ่งคือใช้ใบชุมเห็ดเทศสดมาตำแล้วแช่เหล้าขาวพอท่วมยาไว้ประมาณ 3-5 วันโดยให้คนยาที่แช่ไว้บ่อยๆ แล้วเอาส่วนที่เป็นน้ำมาทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย
วิธีใช้สมุนไพรข่า (Galanga) รักษาโรคกลากเกลื้อน เหง้าข่าจะมีรสเผ็ดประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราและแบคทีเรีย มีสรรพคุณในการขับลมและแก้กลากเกลื้อนได้ ส่วนที่นำมาใช้รักษาโรคกลากเกลื้อนคือส่วนที่เป็นเหง้าแก่ ให้เอาเหง้าข่าแก่มาล้างให้สะอาดแล้วทุบพอแตกหรือจะฝานเป็นแว่นบางๆก็ได้ นำไปแช่ในเหล้าขาวให้พอท่วมยาทิ้งไว้ 1 คืน เอาส่วนที่เป็นน้ำมาทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนจนกว่าจะหายดี
ทองพันชั่ง (Thongpanchang) สมุนไพรแก้โรคกลากเกลื้อนอีกชนิดหนึ่ง โดยเลือกใช้ส่วนที่เป็นใบสดหรือรากซึ่งใช้ได้ทั้งสดและแห้ง ใบทองพันชั่งมีรสเบื่อเมาใช้เป็นยาดับพิษไข้ แก้ผื่นคันและโรคกลากเกลื้อนได้ วิธีใช้ให้เอาใบทองพันชั่งสดหรือรากมาตำจนละเอียดแล้วแช่ทิ้งไว้ในเหล้าโรง(พอท่วมยา) ประมาณ 7 วัน จากนั้นให้เอาส่วนที่เป็นน้ำมาทาบริเวณที่เป็นโรคกลากเกลื้อนวันละ 3-4 ครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นหรือหายแล้วให้ทาต่อไปอีก 7 วัน
การป้องกันโรคกลากเกลื้อน โรคกลากเกลื้อนส่วนมากจะเกิดจากสุขอนามัยที่ไม่ดีจากการที่ร่างกายเกิดความอับชื้น เหงื่อออกมากติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นการป้องกันโรคกลากเกลื้อนทำได้โดยหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกายโดยอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด หลังอาบน้ำเช็ดตัวให้แห้งอย่าปล่อยให้เกิดการอับชื้น อีกอย่างหนึ่งคืออย่าปล่อยให้ร่างกายเครียด อ่อนแอเพราะจะทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงทำให้เกิดการลุกลามของเชื้อราบริเวณผิวหนังที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนได้ โดยทั่วไปการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อราต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานและมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกจึงควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการรักษาโรคกลากเกลื้อน.