ผู้ป่วยโรคนิ่วในไตหรือท่อไต(Ureteric Stone) ถ้าก้อนนิ่วยังมีขนาดเล็ก(ไม่ถึงกับอุดตันทางเดินปัสสาวะ)ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยสมุนไพรที่ช่วยขับและเพิ่มปริมาณปัสสาวะก็ทำให้ก้อนนิ่วขนาดเล็กนั้นหลุดออกมาได้และสมุนไพรอาจมีผลในการละลายก้อนนิ่วที่มีอยู่ในทางเดินปัสสาวะได้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะและก้อนนิ่วนั้นมีขนาดใหญ่จนอุดตันทางเดินปัสสาวะจุดใดจุดหนึ่ง กรณีนี้ไม่ควรใช้สมุนไพรกลุ่มขับปัสสาวะด้วยเหตุผลที่ว่าคุณสมบัติของสมุนไพรช่วยเพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะให้มากขึ้นเท่านั้นแต่เนื่องจากอาการของโรครุนแรงถึงขั้นเกิดการอุดตันทางเดินปัสสาวะแล้ว
ก้อนนิ่วขนาดใหญ่ที่อุดตันทางเดินปัสสาวะเป็นสาเหตุสำคัญของโรค การเพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะด้วยการใช้สมุนไพรไม่อาจทำให้น้ำปัสสาวะไหลผ่านจุดที่เกิดการอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะได้แต่ในทางกลับกันจะทำให้แรงดันในระบบทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเพิ่มขึ้นแต่เนื่องจากทางเดินปัสสาวะเกิดการอุดตันทำให้น้ำปัสสาวะไม่สามารถไหลผ่านไปได้จึงอาจเกิดอันตรายต่อระบบทางเดินปัสสาวะได้
ส่วนอาการปัสสาวะไม่ค่อยออกหรือขัดเบาที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื้อไตอักเสบหรือการติดเชื้อกามโรคก็ไม่ควรใช้สมุนไพรกลุ่มขับปัสสาวะเช่นกันเพราะสมุนไพรกลุ่มนี้ไม่มีคุณสมบัติหรือฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค การรักษาควรทำให้ตรงจุดคือรักษาที่สาเหตุโดยการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโดยตรงจะเป็นวิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า
การใช้สมุนไพรในกลุ่มขับปัสสาวะ(Herbs for Urinary System) มีข้อควรระวังคือ สมุนไพรกลุ่มนี้ส่วนมากจะมีโซเดียมหรือเกลือโปรตัสเซียมอยู่ในปริมาณมากจึงไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์และผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ.